การดูแลสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัย
ในช่วงหน้าฝน
Rainy Season Pet Care Tips
ช่วงนี้อากาศเมืองไทยแปรปรวนบ่อย บางวันร้อนจัด บางวันฝนตกหนัก เช่นเดียวกับคน อากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย อาจทำให้สัตว์เลี้ยงของเราเจ็บป่วยได้ มาดูโรคที่มักพบในสัตว์เลี้ยงช่วงหน้าฝน และวิธีการป้องกันโรคเหล่านั้นให้ห่างไกลจากสัตว์เลี้ยงแสนรักของเรากันค่ะ
โรคผิวหนัง (Skin infection/Skin allergies)
ความอับชื้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพ้ (Skin allergies) และ/หรือการติดเชื้อบริเวณผิวหนังของสัตว์ (Skin infection) ได้ โดยสัตว์จะมีอาการตั้งแต่ มีตุ่มแดง คัน ผิวหนังอักเสบ ขนร่วง ไปจนถึงมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ หรือปรสิตต่างๆ เช่น เห็บ หมัด ร่วมด้วย ในบริเวณใต้ลำตัว รักแร้ อุ้งเท้า ร่องหรือข้อพับต่างๆ และในช่องหู หากปล่อยทิ้งไว้ อาจกลายเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ต้องใช้เวลารักษาเป็นเวลานาน และบางโรคยังสามารถติดต่อมาสู่คนได้อีกด้วย
การป้องกัน: ไม่ปล่อยให้ผิวหนังของสัตว์อับชื้น หมั่นดูแลรักษาความสะอาด อาบน้ำให้ถูกวิธี เช็ดและเป่าขนให้แห้งอยู่เสมอ ถ้าสัตว์เริ่มมีพฤติกรรมคัน เกา สะบัด หรือเลียบ่อยๆ อาจลองสำรวจตามบริเวณเหล่านั้นว่ามีอาการของโรคผิวหนังข้างต้นหรือไม่
โรคระบบทางเดินหายใจ (Respiratory diseases)
2
1
อาการของโรคทางเดินหายใจ มีได้ตั้งแต่ไอ จาม มีน้ำมูก คล้ายกับอาการหวัด (Cold) เหมือนในคน ไปจนถึงโรคที่รุนแรงขึ้นคือ หลอดลมอักเสบ (Canine bronchitis) หรือปอดบวม (Pneumonia) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้นที่มีความผิดปกติของทางเดินหายใจส่วนต้นร่วมด้วย (Brachycephallic respiratory syndrome) สัตว์จะหายใจลำบาก หากไม่ได้รับการรักษาทันที อาจทำให้สัตว์เสียชีวิต
การป้องกัน: ทำให้ร่างกายสัตว์อบอุ่น โดยใส่เสื้อกันหนาวให้สัตว์ในช่วงกลางคืนหรือช่วงฝนตก อากาศเย็น หมั่นสังเกตอาการผิดปกติเริ่มต้น เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ซึมและเบื่ออาหาร และรีบพาไปพบสัตวแพทย์
โรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้ (Gastro-intestinal diseases)
3
สัตว์มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ จากการสัมผัสและกินน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ที่มักเจริญเติบโตได้ดีในหน้าฝน โดยจะมีอาการท้องเสีย อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร
การป้องกัน: เตรียมอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดให้กับสัตว์ ระวังไม่ให้สัตว์เลียตามพื้นดินหรือแหล่งน้ำขังนอกบ้าน
โรคติดเชื้ออื่นๆ จากพาหะนำโรค (Other infectious diseases)
4
นอกจากนี้ ยังมีโรคอื่นๆที่มาพร้อมกับสัตว์พาหะ หรือปรสิตนำโรค เช่น หนู เห็บ หมัด เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายในหลายระบบร่วมกัน
โรคฉี่หนู (Leptospirosis) - ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ตับอักเสบ การอุดตันของท่อน้ำดี ภาวะดีซ่าน ไปจนถึงภาวะไตวายเฉียบพลันและเสียชีวิต
โรคพยาธิเม็ดเลือด (Blood parasite) - เกิดจากเห็บหรือหมัด ทำให้สัตว์มีอาการซึม เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหงือกหรือเยื่อเมือกซีด มีจุดเลือดออกตามตัว ถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด บางรายอาจมีความผิดปกติของระบบประสาทร่วมด้วย
การป้องกัน: ระวังไม่ให้สัตว์สัมผัสดินหรือแหล่งน้ำขังที่มีฉี่หนู หรือเห็บ หมัด
โดยสรุป วิธีการป้องกันสัตว์เลี้ยงจากโรคต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ได้แก่
-
ไม่ควรให้สัตว์ตากฝนหรือเล่นน้ำฝน
-
หมั่นรักษาความสะอาดของร่างกายสัตว์ และบริเวณที่นอนสัตว์ ไม่ให้อับชื้น
-
เตรียมอาหารและน้ำที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ปรุงสดใหม่ให้สัตว์
-
เสริมสร้างภูมิต้านทานป้องกันโรคให้สัตว์ โดยให้รับวัคซีนให้ครบตั้งแต่ช่วงอายุ 2 เดือนเป็นต้นไป (ดูโปรแกรมวัคซีนของทางรพส.)
-
หมั่นสำรวจและสังเกตอาการที่ผิดปกติของสัตว์ เช่น เซื่องซึม เบื่ออาหาร และอาการอื่นๆข้างต้น
เพื่อให้สัตว์ได้รับบริการการรักษาที่ถูกต้องโดยสัตวแพทย์ หากพบอาการที่ผิดปกติหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถาม/นัดหมายเพื่อเข้าตรวจล่วงหน้าได้ที่ 3 ช่องทางด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ
แหล่งอ้างอิง:
-
สพ.ญ. จิตรลดา ตีระลาภสุวรรณ (2019). โรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง ปัญหาหนักอกที่มาพร้อมหน้าฝน. VPN, 17 (204), 46. https://www.readvpn.com:8080/ContentFile/1587210171_c952f49d-413b-417f-af3e-4f1b806baa5f.pdf.
-
สพ.ญ. นาฏทิวา จิตรกร (2016). Mycotic colitis: ภัยเงียบที่มากับฝน. VPN, 14 (170), 28-29. https://www.readvpn.com:8080/ContentFile/1609745888_64d820b0-fbb0-46f0-a369-cce16dd03a3b.pdf.
-
น.สพ. ดร. ธัชกร เลิศวรรณการ (2016). เตรียมตัวรับมือให้ทันท่วงทีกับโรคฉี่หนู. VPN, 14 (167), 36-38. https://www.readvpn.com:8080/ContentFile/1609740628_5a55e4b9-3e54-4b83-8fe8-e5c0ddcdda4b.pdf.