top of page
demodectic-mange.jpeg

โรคไรขี้เรื้อนเปียกในสุนัข

Demodex Canis

เรียบเรียงบทความโดย สพ.ญ.จริยา รุ่งเรือง (คุณหมอนก)

ไรขี้เรื้อนเปียกในสุนัข คืออะไร

ไรขี้เรื้อนเปียกหรือไรขี้เรื้อนชุมชนในสุนัข (Demodex canis, Demodex mites) เป็นปัญหาที่พบบ่อยในสุนัขที่เลี้ยงในประเทศไทย โดยไรชนิดนี้จะใช้เนื้อเยื่อผิวหนังที่ตายแล้วเป็นอาหาร ซึ่งโดยปกติแล้วไรชนิดนี้อาจพบได้บนผิวหนังของสุนัขโดยไม่ทำให้เกิดโรค (นอกจากจะมีจำนวนมาก) การเกิดโรคอาจเกี่ยวข้องกับสุขภาพของสุนัข ความเหมาะสมของสารอาหารที่สุนัขได้รับ หรือภูมิคุ้มกันของตัวสุนัขเอง

ลักษณะผิวหนังของสุนัขที่เป็นไรขี้เรื้อนเปียก

สุนัขที่มีปัญหาไรขี้เรื้อนเปียกจะพบจุดขนร่วงบริเวณใบหน้า หัว แก้ม ริมฝีปาก รอบตา ขาหน้า ผิวหนังบริเวณที่ขนร่วงอาจมีสะเก็ดรังแคหรือผิวหนังที่มีสีเข้มมากกว่าปกติ มักไม่ค่อยมีอาการคันหรืออักเสบ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจมีการแพร่กระจายลุกลามไปตามส่วนอื่นของร่างกายได้ โดยอาจมีขอบเขตของขนที่ร่วงเพิ่มมากขึ้น ผิวหนังอักเสบ มีรังแคคลุมและมีสีเข้มมากขึ้นและมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมด้วยได้ เนื่องจากผิวหนังไม่แข็งแรงจากการติดไรขี้เรื้อน ทำให้สุนัขเกิดอาการคันมาก มีการอักเสบมากขึ้น และมีหนองร่วมด้วยได้ โดยมักเกิดกับสุนัขอายุ 3-6 เดือน หรือต่ำกว่า 1 ปี

S__4284422.jpg
Case review2-5_edited.jpg

ภาพแสดงลักษณะของสุนัขที่มีปัญหาไรขี้เรื้อนเปียก พบขนร่วงเป็นหย่อมๆ ร่วมกับผิวหนังอักเสบกระจายทั่วร่างกาย

Case review2-6.jpg

การตรวจวินิจฉัยไรขี้เรื้อนเปียก

การตรวจและวินิจฉัยสามารถทำได้ โดยสัตวแพทย์จะขูดผิวหนังหรือดึงเส้นขนบริเวณที่มีอาการ แล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ร่วมกับการวินิจฉัยถึงปัญหาแทรกซ้อนอย่างอื่น เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย โรคผิวหนังจากการแพ้แบบต่างๆ ร่วมด้วย

ภาพจากกล้องจุลทรรศน์ แสดงลักษณะตัวไรขี้เรื้อนเปียก

(Demodex canis, Demodex mites)

การรักษาและการป้องกันไรขี้เรื้อนเปียก

การรักษาไรขี้เรื้อนเปียกสามารถทำได้โดยการใช้ยาที่มีฤทธิ์กำจัดโดยตรง ซึ่งในปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายชนิด ทั้งรูปแบบยาฉีด กินและหยดบริเวณหลัง แต่ละชนิดมีความถี่ในการให้ยาที่แตกต่างกันไป ร่วมกับการทานยารักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง พร้อมกับการฟอกหรืออาบด้วยแชมพูยา สัปดาห์ละ 2 ครั้งหรือทุกๆ 3 วัน เพื่อเป็นการชะล้างเศษเนื้อเยื่อผิวหนังที่เป็นอาหารของไรขี้เรื้อนเปียกออก ในส่วนของการป้องกัน สามารถทำได้โดยป้อน ฉีดหรือหยดยาที่หลัง ตามความเหมาะสมของสุนัขแต่ละตัว

แหล่งอ้างอิง:

ณรงค์ กิจพาณิชย์ และ ปิยะรัตน์ จันนทร์ศิริพรชัย, โรคผิวหนังสุนัข วิธีจัดการในคลินิก, พิมพ์ครั้งที่ 3, (นนทบุรี : บริษัท ตีรณสาร จำกัด, 2556), หน้า 140.

เพื่อให้สัตว์ได้รับบริการการรักษาที่ถูกต้องโดยสัตวแพทย์ หากพบอาการที่ผิดปกติหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถาม/นัดหมายเพื่อเข้าตรวจล่วงหน้าได้ที่ 3 ช่องทางด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ

  • Whatsapp
  • line icon
  • Facebook
bottom of page